share37Twitter 3 Min. readเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งหรือพิษภัยของสงคราม ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น สงครามสร้างรอยแผล คราบน้ำตา และความพังภินท์ให้ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือฝ่ายที่ปราชัย แต่ก็นั่นล่ะ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอันเกี่ยวเนื่องกับความสูญเสียและการสู้รบก็สอนอะไรเราได้หลายอย่าง อย่างน้อยที่สุดคือผลร้ายที่ไม่มีใครปรารถนา โคราชก็เช่นกัน นคราอันยิ่งใหญ่ไม่มีใครเสมอเหมือน ซึ่งได้รับการสถาปนาตรากฏมณเฑียรบาลเป็นครั้งแรกในราว พ.ศ.2000 … เป็น 1 ใน 8 เมืองพระยามหานครที่ต้องถือน้ำพระพัทธ์ โดยใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า นครราชสีมา เมืองอันเป็นพระราชอาณาเขต (ของกรุงศรีอยุธยา) ที่ต้องเผชิญและประสบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ได้ยาตราทัพมายึดโคราช เมื่อ พ.ศ.2369 ต้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2367-2394) ผมจะขอไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ในขณะนั้นซึ่งส่งผลให้มีคำบอกเล่าเรื่อง ‘วีรสตรีแห่งนครราชสีมา’ ท้าวสุรนารีและวีรกรรม ณ ทุ่งสัมฤทธิ์จนยืดยาว เพราะเคยเล่าไปแล้วบางส่วนใน เล่าเรื่องเมืองโคราช vol.4 (ตามอ่านต่อได้ในลิ้งค์นี้ http://moremove.com/mmV5/?p=13108 ) แต่จะขอกล่าวถึงบทกลอนซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นในเหตุการณ์เมื่อครั้งนั้น ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• – โคราชถูกทำลาย – ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• โคราชเมื่อถูกยึดครองจากกองทัพเวียงจันทน์ มีบันทึกร่วมสมัยว่าเมืองบางส่วนถูกทำลาย หม่อมเจ้าทับ ผู้ร่วมเดินทางไปกับทัพกรมหมื่นเสนีบริรักษ์ (ทัพที่เคลื่อนจากกรุงเทพฯ ผ่านมาทางเมืองบัวชุม ลพบุรี ผ่านดงพญากลางที่ทางช่องนางสระผม) บรรยายถึงสภาพเมืองนครราชสีมาในขณะนั้นที่ถูกทำลายไปไม่นาน ความว่า ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• ครั้นบ่ายแสงสุริยาก็คลาไคล เข้ากรุงไกรนครราชสีมาเมือง ดูขอบคันมั่นคงในเขื่อนเขตต์ ทุกประเทศกล่าวชื่อก็ลือเลื่อง ทั้งว่านยาอาคมก็รุ่งเรือง ไม่ควรเคืองข้าศึกมายายี กำแพงรอบขอบเมืองเสมาตั้ง ดูขึงขังเป็นสง่าราศรี หอรบรอบขอบเนินเชิงเทินมี บนหน้าที่ป้อมปืนขึ้นยืนยัน เรือนบ้านแต่ล้วนตึกระดาดาษ ทั้งบริเวณอาวาสก็เฉิดฉัน แลจำหลักลวดลายพรายสุวรรณ ที่หน้าบันครุฑปิดสุกรีบิน เสียดายเมืองเสียศึกก็มัวหมอง จนเข้าของย่อยยับทั้งทรัพย์สิน ไอ้ลาวแย่งยื้อขนลงบนดิน แล้วฟันยับสับสิ้นทุกสิ่งอัน ••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••••• บทกลอนข้างต้นของ หม่อมเจ้าทับ ได้บรรยายถึงภาพความงดงามและมลังเมลืองเขื่องโขของมหาธานีแห่งอีสานไว้ได้อย่างแจ่มชัด ทั้งความยิ่งใหญ่ตระหง่านง้ำของกำแพงเมืองและประตูเมือง ความเข้มแข็งและมั่นคงของหอรบและป้อมปืน ตลอดจนความเรืองโรจน์ชัชวาลของบ้านเรือนและวัดวาอารามในโอบล้อมของเขตเมืองชั้นใน ตลอดจนความวินาศย่อยยับอัปราชัยเมื่อครั้งกองทัพแห่งนครเวียงจันทน์ได้ครอบครองมาสู่ อย่างที่บอกไปข้างต้น สงครามนำมาซึ่งความสูญเสียและความร้าวฉาน การเรียนรู้เหตุปัจจัยและผลลัพธ์ความร้าวรานเมื่อเกิดมีสงครามในครั้งอดีตน่าจะช่วยให้เกิดมีสงครามน้อยลงในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งที่เราน่าจะได้เรียนรู้จากพิษภัยสงครามอันปรากฏในบทกลอนข้างต้นก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใดๆ ในโลกล้วนไม่จีรังยั่งยืน มีเกิดมีดับ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นธรรมดาแห่งโลก ดังนั้น อย่ายึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางกันดีกว่าเอย Writer : พลเชษฐ์ พันธ์พิทักษ์ Photo : ฤทธิเดช เถียมสันเทียะ Cover Photo : ประติมากรรม ณ วัดศาลาลอย share37TwitterComments Powered by Facebook Comments